เรื่องน่ารู้ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

ความสำคัญของการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

การเลือกตั้ง ทุกระดับเป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทย  และการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นับว่ามีความสำคัญยิ่งต่อคนไทยทุกคนที่ต้องไปแสดงพลังบริสุทธิ์ ในการมอบอำนาจอธิปไตยของเราโดยการเลือก ส.ว. ไปทำหน้าที่สภาสูงแทนเรา
ดังนั้น การจะมอบอำนาจอธิปไตยของเราให้ใครเป็น ส.ว. จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะหากเราเลือกคนดี มีความรู้ความสามารถไปเป็น ส.ว. ก็จะทำให้เราได้ใช่กฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติ และได้นักการเมืองหรือคนดีทำงานในองค์กรสำคัญต่างๆ ให้สามารถพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้

ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา

สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ทั้งประเทศมีจำนวน 150 คน ดำรงตำแหน่งได้คราวละ 6 ปี โดยห้ามเป็น 2 วาระติดต่อกัน มีที่มา 2 แบบ คือ มาจากการเลือกตั้ง และการสรรหา
  • ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งมีจำนวน 77 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในแต่ละจังหวัดๆ ละ 1 คน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนเลือกผู้สมัครได้เพียงหมายเลขเดียว ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดจะได้รับเลือกเป็น ส.ว. ของแต่ละจังหวัด
  • ส.ว. ที่มาจากการสรรหามีจำนวน 73 คน ซึ่งคณะกรรมการสรรหาจะดำเนินการสรรหา ส.ว. จำนวนดังกล่าวจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่างๆ ในภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่นๆที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภา

คณะกรรมการสรรหา

ในการพิจารณาสรรหา ส.ว. จำนวน 74 คน จะมีคณะกรรมการสรรหา จำนวน 7 คน ประกอบด้วย
  1. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
  2. ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
  3. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
  4. ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
  5. ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
  6. ผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมาย
  7. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดมอบหมาย

 กระบวนการสรรหามีความโปร่งใส
  • มติในการสรรหาต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย
  • ต้องมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการการสรรหาเท่าที่มีอยู่
  • ผลการพิจารณาสรรหาของคณะกรรมการสรรหาให้ถือเป็นที่สุด

กระบวนการสรรหา ส.ว.

ส.ว. ที่มาจากการสรรหา มีกระบวนดังนี้
  • กกต. ประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดวันสรรหา
  • กกต. ให้องค์กรต่างๆ ในภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพและภาคอื่นๆ ลงทะเบียนพร้อมเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการสรรหาเป็น ส.ว. ภายใน 15 วัน
  • กกต. รวบรวมรายชื่อบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้คณะกรรมการสรรหา
  • คณะกรรมการสรรหาพิจารณาภายใน 30 วัน ผลการพิจารณาสรรหาให้ถือเป็นที่สุด
  • กกต. ประกาศผลการสรรหาและแจ้งผลไปยังประธานรัฐสภาเพื่อทราบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หน้าที่ของ ส.ว.

  • กลั่นกรองกฎหมาย ที่ผ่านการพิจารณาของ ส.ส.
  • ตรวจสอบและควบคุม การบริหารราชการแผ่นดิน
  • ให้ความเห็นชอบบุคคล ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

  • มีสัญชาติไทย ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง และ
  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

ลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

  • เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช
  • อยู่ในระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
  • ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล หรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
  • วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัด

ผู้ที่อาศัยหรือทำงานอยู่คนละจังหวัดกับทะเบียนบ้านของตนหรือผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านปัจจุบันไม่ถึง 90 วัน สามารถใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ว. ล่วงหน้าได้ ณ ที่เลือกตั้งกลางของจังหวัดที่ท่านทำงานหรืออาศัยอยู่ได้ โดยไม่ต้องเดินทางกลับบ้าน

การยื่นคำขอเพื่อลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า

  • ขอรับแบบคำขอลงทะเบียนและยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นในจังหวัดที่ท่านอาศัยอยู่ด้วยตัวเองหรือส่งทางไปรษณีย์ หรือมอบหมายผู้อื่นไปยื่นแทน
  • แนบหลักฐาน ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชน หรือบัตรที่มีรูปถ่าย ซึ่งทางราชการออกให้และมีหมายเลขประจำตัวประชาชนพร้อมรับรองสำเนา
  • ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเจตจังหวัด ณ ที่เลือกตั้งกลางของจังหวัด

ข้อควรจำ สำหรับการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัด

  • ผู้ที่ขอลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ล่วงหน้านอกเขตจังหวัดไว้ จะกลับไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งเดิมในเขตเลือกตั้งที่มีสิทธิเลือกตั้งไม่ได้จนกว่าจะขอเปลี่ยนการลงทะเบียนกลับที่เดิม
  • หากท่านต้องการกลับไปลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งที่มีสิทธิเลือกตั้งตามทะเบียนบ้านหรือต้องการเปลี่ยนแปลงที่ลงคะแนนเดิมที่ลงทะเบียนไว้ต้องขอยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น
  • ผู้ที่เคยยื่นคำขอลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ล่วงหน้าไว้แล้ว หากประสงค์ที่จะใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ว. ล่วงหน้าที่เดิมสามารถไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าได้ทันที

การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง

ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านตามทะเบียนบ้าน แต่ในวันเลือกตั้งต้องเดินทางออกนอกเขตไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ ก็สามารถไปแสดงตนเพื่อขอลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ว. ก่อนวันเลือกตั้งได้ ณ ที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง โดยต้องยื่นคำขอลงทะเบียนขอใช้สิทธิดังกล่าวต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น ภายในระยะเวลาที่ กกต. กำหนด

การเตรียมตัวไปเลือกตั้ง ส.ว.

การตรวจสอบรายชื่อ
  • 20 วันก่อนวันเลือกตั้ง ตรวจสอบรายชื่อจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ที่ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการเขต ที่ทำการ อบต. สำนักงานเทศบาล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หรือเขตชุมชน
  • 15 วันก่อนวันเลือกตั้ง ตรวจสอบรายชื่อจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ะที่เลือกตั้งจากหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน (ส.ว.11)
การเพิ่มชื่อ – ถอนชื่อ
ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน หากเห็นว่าไม่มีชื่อตนเองหรือมีชื่อผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่อ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้แจ้งนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น โดยนำหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นใดที่ทางราชการออกให้มาแสดงด้วย

การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

  • ก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน ขอรับแบบ ส.ว. 28 หรือทำหนังสือชี้แจงเหตุที่ทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ และให้ระบุเลขประจำตัวประชาชนและที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
  • ยื่นหนังสือต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น
    - ด้วยตนเอง
    - มอบหมายผู้อื่นหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
ผู้ที่มีเหตุทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ว. ไม่ได้
  • ผู้มีธุรกิจจำเป็นเร่งด่วนต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
  • ผู้ป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • ผู้พิการหรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
  • ผู้มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
  • ผู้ประสบเหตุสุดวิสัย เช่น อุทกภัย วาตภัย ฯลฯ

ไม่ได้ไปเลือกตั้ง ส.ว. เสิยสิทธิอะไรบ้าง

ผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุอันสมควร จะเสียสิทธิ 3 ประการ ดังนี้
  • สิทธิคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.
  • สิทธิสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา เป็น ส.ส. และ ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
  • สิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน

สิทธิที่เสียไปจะได้คืนมาอย่างไร

สิทธิทั้ง 3 ประการ จะได้กลับคืนมา เมื่อไปใช้สิทธิการเลือกตั้งอย่างใดอย่างหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สมาชิกสภาท้องถิ่น (ส.ถ.) หรือผู้บริหารท้องถิ่น (ผ.ถ.)

หลักฐานที่ใช้ในการเลือกตั้ง

  • บัตรประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)
  • บัตรหรือหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้มีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น
    - บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
    - ใบขับขี่
    - หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)

ขั้นตอนการลงคะแนนเลือกตั้ง
  1. ตรวจสอบรายชื่อ ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อผู้สิทธิเลือกตั้งเละข้อมูลผู้สมัคร ส.ว. ที่ประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้ง (ถ้ามีหนังสือแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังเจ้าบ้าน (ส.ว.11) ให้นำไปด้วย)
  2. แสดงตนลงคะแนน ยื่นบัตรประชาชนและลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
  3. รับบัตรเลือกตั้ง ลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาบนต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง พร้อมรับบัตรเลือกตั้ง 1 ใบ
  4. ทำเครื่องหมายกากบาท เข้าคูหาลงคะแนน ทำเครื่องหมายกากบาท X ลงใน “ช่องทำเครื่องหมาย” เพียงหมายเลขเดียว ถ้าไม่ต้องการเลือกใคร  ให้ทำเครื่องหมายกากบาท X ในช่องไม่ลงคะแนน
  5. หย่อนบัตรด้วยตนเอง เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้ว พับบัตรเลือกตั้งให้เรียบร้อยและหย่อนบัตรลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง
ที่มา : http://www.ect.go.th/th/?page_id=719

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แผนที่หน่วยเลือกตั้ง สว.57 เขตสัมพันธวงศ์

ข่าวเด่นวันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ

ข่าว บันเทิง

ข่าวกีฬา