ทำไมต้องเป็นคนไทยพลัดถิ่น

คนไทยพลัดถิ่น เป็นชื่อที่เรียกขานคนไทยอพยพที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนตอนใต้ฝั่งตะวันตกได้แก่ มะริด ทวาย ตะนาวศรี (ประเทศพม่า) และฝั่งตะวันออกได้แก่เกาะกง (ประเทศกัมพูชา)  ซึ่งขณะนั้นอยู่ในอาณาเขตของประเทศสยามหรือประเทศไทย เมื่อมีการล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตก ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเสียดินแดนเหล่านั้นไป  ส่งผลให้คนไทยที่อาศัยอยู่ในดินแดนดังกล่าวกลายเป็นคนไทยที่ไม่ได้อยู่บนแผ่นดินไทยอีกต่อไป จึงมีคนไทยบางส่วนเดินทางอพยพมาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า "คนไทยพลัดถิ่น" แต่เดิมยังไม่มีกฎหมายสัญชาติฉบับใดให้สถานภาพของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นคนไทยโดยการเกิด ทำให้เขาเหล่านั้นไม่ได้รับสิทธิเยี่ยงคนไทยทั่วไป 
          เป็นที่น่ายินดีที่ได้มีการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นดังกล่าวแล้วในปัจจุบัน กล่าวคือได้มีการออกพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๕ ทำให้คนไทยพลัดถิ่นดังกล่าวมีสิทธิที่จะได้สัญชาติไทย โดยมีองค์ประกอบดังนี้
          (๑) เป็นผู้ซึ่งมีเชื้อสายไทยที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่นโดยเหตุอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยในอดีต (territory changed)
          (๒) มิได้ถือสัญชาติของประเทศอื่น
          (๓) ได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว
          (๔) มีวิถีชีวิตเป็นคนไทย
          (๕) ได้รับการจัดทำทะเบียนราษฎรภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
          โดยบุคคลกลุ่มเป้าหมายตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕ นี้ได้แก่
ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา (เข้ามาก่อนวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๐)
ผู้หลบหนีเข้าเมืองเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา (เข้ามาหลังวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๐)
ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทยที่เข้ามาก่อนวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๑๙
ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทยที่เข้ามาหลังวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๑๙
 (เขียนเมื่อกรกฎาคม 2555 ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตประเวศ)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แผนที่หน่วยเลือกตั้ง สว.57 เขตสัมพันธวงศ์

ข่าวเด่นวันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ

ข่าว บันเทิง

ข่าวกีฬา