ปกติบ้านที่อยู่อาศัยโดยทั่วไปมักจะอยู่กันเป็นครอบครัว ได้แก่ พ่อ แม่ และลูก หรืออาจจะมีญาติคนอื่นๆ อยู่ด้วยอีกหนึ่งคนหรือสองคน ซึ่งจะถือว่ามีเพียงครอบครอบเดียว ดังนั้นการลงรายการสถานภาพของบุคคลในทะเบียนบ้านจะลงรายการสถานภาพไว้เพียงว่า “เจ้าบ้าน” หรือ     “ผู้อาศัย” เท่านั้น แต่ก็มีบ้านบางหลังที่เดิมเป็นครอบครัวเดียว ต่อมามีผู้มาอาศัยอยู่ร่วมกันเพิ่มขึ้นเป็นครอบครัวใหม่ทำให้บ้านดังกล่าวมีลักษณะของสองครอบครัวอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน เช่น เดิมมีเพียงแค่ พ่อ แม่ และลูก เมื่อลูกเติบโตขึ้นไปมีครอบครัวใหม่แต่ก็ยังคงอยู่อาศัยในบ้านเดิมไม่ได้แยกบ้านออกไปใหม่ทำให้เกิดลักษณะเป็นสองครอบครัวอยู่ในบ้านหลังเดียวกันซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติทั่วๆ ไปของสังคมไทย
แต่ลักษณะการมีครอบครัวหลายครอบครัวอยู่ในบ้านหลังเดียวกันก็มาเชื่อมโยงกับงานทะเบียนราษฎรได้ จนเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในการให้บริการประชาชน แม้ว่ากฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับงานทะเบียนราษฎรมิได้กล่าวถึงคำว่า “หัวหน้าครอบครัว”ไว้ก็ตาม กล่าวคือมักมีประชาชนมายื่นคำร้องให้นายทะเบียนแก้ไขสถานภาพของตนเองในทะเบียนบ้านจาก “ผู้อาศัย”เป็น “หัวหน้าครอบครัวที่ ๒ หรือ ๓ หรือ ๔...” โดยอ้างว่าเพื่อขอรับบริการจากหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะในส่วนของการติดตั้งระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่าง ๆ เช่น การขอติดตั้งเครื่องวัดไฟฟ้าของการไฟฟ้าเพิ่มเติมแยกต่างหากจากเครื่องวัดเดิม ตามปกติแล้วการไฟฟ้าจะไม่ติดตั้งเครื่องวัดสองเครื่องในบ้านหลังเดียวกัน เพราะถือว่าบ้านหนึ่งหลังควรมีเครื่องวัดเพียงเครื่องเดียว แต่ถ้าบ้านดังกล่าวมีลักษณะอยู่กันหลายครอบครัวต้องการแยกเครื่องวัดเพื่อความสะดวกในการดำรงชีพ ไม่ต้องมีปัญหากันว่าครอบครัวไหนใช้กระแสไฟฟ้าน้อยหรือมากกว่ากัน ต้องมาแก้ไขสถานภาพในทะเบียนบ้านหลังนั้นจาก “ผู้อาศัย” เป็น “หัวหน้าครอบครัวที่ ๒” หรือ “หัวหน้าครอบครัวที่ ๒ หรือ ๓ หรือ ๔...”  เสียก่อนการไฟฟ้าจึงจะติดตั้งเครื่องวัดเพิ่มขึ้นให้เพิ่มขึ้นกับจำนวนหัวหน้าครอบครัวที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายทะเบียน
อย่างไรก็ตามเนื่องจากกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับงานทะเบียนราษฎรมิได้กล่าวถึงการแต่งตั้งหัวหน้าครอบครัวไว้เป็นการเฉพาะ กระทรวงมหาดไทยโดยสำนักทะเบียนกลางได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการแต่งตั้งหัวหน้าครอบครัวไว้ตามหนังสือที่ มท ๐๓๑๐.๑/๑๔๒ ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ สรุปได้ว่าเมื่อนายทะเบียนได้รับคำร้องจากเจ้าบ้านหรือผู้ที่เจ้าบ้านมอบหมายแล้ว ต้องสอบถามและบันทึกข้อความไว้ในคำร้องให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บ้านดังกล่าวมีกี่ครอบครัว ผู้ที่จะขอลงรายการหัวหน้าครอบครัวมีสมาชิกที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในลักษณะของการเป็นครอบครัวหรือไม่ และได้รับความยินยอมจากสมาชิกในครอบครัวหรือไม่แต่ถ้าปรากฏว่าผู้ที่ขอให้ลงรายการหัวหน้าครอบครัวอาศัยอยู่ในบ้านโดยไม่มีลักษณะของการเป็นครอบครัว เช่น อยู่คนเดียวในฐานะของผู้อาศัย หรือสมาชิกของครอบครัวซึ่งมีการลงรายการหัวหน้าครอบครัวไว้แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการให้ได้ หากบ้านของท่านผู้ใดมีความจำเป็นต้องการแต่งตั้งหัวหน้าครอบครัวและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้นแล้วละก็ สามารถยื่นคำร้องได้ที่สำนักทะเบียนตามทะเบียนบ้านที่ท่านมีชื่ออยู่ โดยนำหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน พร้อมด้วยหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แสดงถึงความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว เช่น ทะเบียนสมรส สูติบัตร เป็นต้น  ถึงตรงนี้คงจะเห็นความสำคัญของการเป็นหัวหน้าครอบครัวแล้ว และ      คงเข้าใจถึงการเปลี่ยนสถานภาพหรือลงรายการในทะเบียนบ้านจาก “ผู้อาศัย” เป็น หัวหน้าครอบครัวที่ ๒ หรือ ๓ หรือ ๔... บ้างไม่มากก็น้อยและอย่าสับสนว่าทำไมไม่มี “หัวหน้าครอบครัวที่ ๑” เพราะหัวหน้าครอบครัวที่ ๑ ก็คือ “เจ้าบ้าน” นั่นเอง

เรื่องโดย นายธนิต ตันบัวคลี่ หัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ 
(เขียนเมื่อ พฤศจิกายน 2555 ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตประเวศ)
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แผนที่หน่วยเลือกตั้ง สว.57 เขตสัมพันธวงศ์

ข่าวเด่นวันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ

ข่าว บันเทิง

ข่าวกีฬา