ในการให้บริการด้านงานทะเบียนราษฎรมักพบว่ายังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับทะเบียนบ้านกลางอยู่หลายประการ เช่น ใครก็สามารถย้ายเข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้านกลางได้ หรือบางรายต้องการให้ลูกย้ายเข้ามาเรียนที่เขตกรุงเทพฯ แต่ไม่มีทะเบียนบ้านอยู่ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อย้ายลูกเข้ามาได้ จึงมาติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอย้ายลูกเข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้านกลางของเขตที่มีความประสงค์ให้ลูกมีสิทธิเข้าเรียนในโรงเรียน เป็นต้น
  คำว่าทะเบียนบ้านกลาง เป็นคำที่บัญญัติอยู่ใน มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งได้ให้คำนิยามไว้ว่า “ทะเบียนบ้านกลาง หมายความว่า ทะเบียนซึ่งผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดให้จัดทำขึ้นสำหรับลงรายการบุคคลที่ไม่อาจมีชื่อในทะเบียน” และตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 ข้อ 46 ได้กำหนดเกี่ยวกับทะเบียนบ้านกลางเพิ่มเติมไว้ว่า “ทะเบียนบ้านกลางมิใช่ทะเบียนบ้านแต่เป็นทะเบียนที่ใช้สำหรับลงรายการบุคคลที่ไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้านได้ และให้สำนักทะเบียนทุกแห่งจัดทำทะเบียนบ้านกลางของสำนักทะเบียนไว้” ซึ่งจะตรงกันข้ามกับคนทั่วไปที่มักจะเข้าใจว่าทะเบียนบ้านกลางเป็นทะเบียนบ้านประเภทหนึ่ง
  สำหรับบุคคลที่ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนกลางก็เป็นไปตามที่กฎหมายทะเบียนราษฎรกำหนดซึ่งมีอยู่หลายประเภท แต่มีประเภทหนึ่งซึ่งมักเจอเป็นประจำ ได้แก่ กรณีที่เจ้าบ้านมาแจ้งย้ายออกโดยไม่ทราบที่อยู่ของคนที่มีชื่อในทะเบียนบ้านโดยแจ้งว่าบุคคลดังกล่าวได้ออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่นเกินกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันและไม่ทราบว่าบุคคลดังกล่าวไปอยู่ที่ใด ดังนั้นเมื่อไม่ทราบว่าย้ายไปอยู่ที่ใดนายทะเบียนจึงจำต้องย้ายชื่อออกไปและนำไปเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านกลางของสำนักทะเบียนนั่นเอง
  เมื่อทะเบียนบ้านกลางไม่ใช่ทะเบียนบ้าน ดังนั้น บุคคลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางจึงต้องเสียสิทธิอยู่ในหลายประการ หากเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าบุคคลนั้นจะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหรือต้องใช้ทะเบียนบ้านมาประกอบเป็นหลักฐานในการติดต่อราชการต่างๆ ตัวอย่างของการเสียสิทธิ เช่น
ไม่สามารถคัดและรับรองสำเนารายการของตนเองเพื่อนำไปอ้างอิงหรือใช้สิทธิต่างๆ  เหมือนทะเบียนบ้านได้
ไม่สามารถทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ได้
ไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในทุกระดับได้
ไม่สามารถแจ้งย้ายปลายทางได้
อื่นๆ ที่ต้องขอรับบริการจากหน่วยงานของรัฐและจำเป็นต้องใช้ทะเบียนบ้านเป็นหลักฐานประกอบ  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วคงไม่มีใครอยากมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางเป็นแน่ๆ...สำหรับผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางแล้วคงต้องรีบแจ้งย้ายออกไปอยู่ในทะเบียนบ้านปกติ โดยนำหลักฐานแสดงตัว เช่น บัตรประจำตัวประชาชน บัตรข้าราชการ ใบขับขี่ ฯลฯ ไปติดต่อขอแจ้งย้ายออกจากที่เขตหรืออำเภอที่เรามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางนั้นๆ นะครับ
เรื่องโดย นายธนิต ตันบัวคลี่  หัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ 
(เขียนเมื่อ กันยายน 2555 ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตประเวศ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แผนที่หน่วยเลือกตั้ง สว.57 เขตสัมพันธวงศ์

ข่าวเด่นวันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ

ข่าว บันเทิง

ข่าวกีฬา